วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กฎหมายที่ต้องรู้ก่อนเช่าซื้อรถ

07:32



คดีที่มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับการเช่าซื้อรถ ที่สู้คดีกันจนถึงศาลฎีกามีมากพอสมควรและก็มีคดีที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ที่อาจถือเป็นบรรทัดฐานในชั้นนี้ได้ ที่น่าสนใจหลายประเด็น ซึ่งขอแยกเป็นเรื่องดังนี้

– อัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยที่คิดจากการเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อคิดเหมาตามยอดเงินต้น ตั้งแต่วันแรกของการส่งค่างวดจนถึงงวดสุดท้าย โดยไม่ได้ลดต้นลดดอกที่ผ่อนชำระไปแล้ว ดังนั้น ดอกเบี้ยตามความเป็นจริงจะสูงกว่าอัตราที่โฆษณาไว้ประมาณเท่าตัว ในบางกรณีอัตราดอกเบี้ยอาจสูงถึงร้อยละสามสิบเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เพราะมิใช่ดอกเบี้ยกู้ยืมเงิน (คำพิพากษาฎีกาที่ 9571/2544)

– ค่าเสียหายกรณีรถยนต์ที่ผ่อนสูญหาย การผ่อนรถยนต์โดยทำสัญญาเช่าซื้อที่มีข้อกำหนดในสัญญาให้ผู้เช่าซื้อต้องจัดทำสัญญาประกันภัย กรณีที่รถยนต์สูญหาย โดยให้ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้รับประโยชน์ และกำหนดในสัญญาด้วยว่า ถ้ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายอันผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบ ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายค่างวดที่เหลือจนครบนั้น ถ้าผู้ให้เช่าซื้อได้รับค่าชดใช้สองทาง คือ จากผู้เช่าซื้อที่ต้องจ่ายค่างวดที่เหลือจนครบ และก็รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยด้วย กรณีเช่นนี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาวินิจฉัยว่า กรณีที่รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป ผู้ให้เช่าซื้อได้รับค่าสินไหมทดแทนสองทางโดยได้จากผู้เช่าซื้อและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าค่าเสียหายที่ได้รับ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้ผู้เช่าซื้อ (คำพิพากษาฎีกาที่ 4819/2549)

– การผิดนัดค้างค่าผ่อนส่ง ตามกฎหมายว่าด้วยเช่าซื้อ หากผู้เช่าซื้อค้างค่าผ่อนส่งสองงวดติดต่อกัน ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่ก็มีผู้ให้เช่าซื้อบางรายกำหนดในสัญญาว่าหากผิดนัดค้างค่าผ่อนส่งงวดใดงวดหนึ่ง คือ ผิดนัดเพียงงวดเดียวก็บอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนใช้บังคับได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 9571/2544) อย่างไรก็หากเป็นการผ่อนรถโดยทำสัญญาเช่าซื้อกับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อในกรณีนี้จะอยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจะบอกเลิกสัญญาได้ต่อเมื่อผิดนัดไม่ส่งค่างวดสามงวดติดต่อกัน

สำหรับกรณีที่ผู้เช่าซื้อส่งค่างวดไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด ซึ่งผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เช่น ค้างส่งค่างวดสามงวดติดต่อกัน แต่ต่อมา ผู้เช่าซื้อนำค่างวดมาชำระ ผู้ให้เช่าซื้อก็ยอมรับค่าเช่าซื้อนั้นโดยไม่ทักท้วง แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ เท่ากับผู้ให้เช่าซื้อยอมให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับกันต่อไป (คำพิพากษาฎีกาที่ 3830-3831/2550)

– ค้างค่างวด ถูกยกเลิกสัญญา รถถูกยึด ต้องจ่ายค่างวดที่ค้างหรือไม่ ตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าซื้อ ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่างวดตามที่กำหนดในสัญญา เช่น สองงวดหรือสามงวดติดกัน ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อบอกเลิกสัญญาแล้ว เงินดาวน์และค่างวดที่ส่งไปแล้ว จะตกเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ และผู้ให้เช่าซื้อกลับเข้าครอบครองรถคือยึดรถกลับคืนได้ กรณีเช่นนี้ มีข้อพิจารณาว่าผู้ผ่อนรถ คือ ผู้เช่าซื้อจะต้องจ่ายค่างวดที่ค้างชำระให้ผู้ให้เช่าซื้อหรือไม่ สำหรับแนววินิจฉัยของศาลฎีกาในปัจจุบัน ถือว่าผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้เช่าซื้อชำระค่างวดที่ค้างชำระ แต่สามารถเรียกค่าเสียหายหากรถนั้นชำรุดเสียหายและเรียกค่าเสียหายจากการเลิกสัญญาได้ และถึงแม้ในสัญญาจะมีข้อกำหนดให้เรียกค่างวดที่ค้างชำระได้ ศาลฎีกาถือว่าเป็นการกำหนดความรับผิดในความเสียหาย เนื่องจากการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า ซึ่งศาลมีอำนาจปรับลดถ้าเห็นว่าสูงเกินควรได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 356/2548) (คำพิพากษาฎีกาที่ 1496/ 2548)

– ผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา ในการให้เช่าซื้อรถยนต์รายหนึ่ง ปรากฏว่าบริษัทที่ขายรถยนต์ไม่สามารถจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์นั้นได้ จึงทำให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อไม่สามารถจดทะเบียนและต่อทะเบียนให้ผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจึงหยุดส่งค่างวด แต่ยังคงครอบครองและใช้รถยนต์คันนั้น บริษัทให้เช่าซื้อได้มีหนังสือทวงถามให้ผู้เช่าซื้อชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา ต่อมาได้ยื่นฟ้อง หลังจากนั้น ผู้เช่าซื้อจึงคืนรถให้ผู้ให้เช่าซื้อ และผู้เช่าซื้อก็ได้ฟ้องแย้งเรียกเงินดาวน์คืน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นทรัพย์ที่มีทะเบียน ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อ เพื่อให้ผู้เช่าซื้อได้ใช้รถยนต์ตามสภาพของรถยนต์และโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่บริษัทที่ขายรถยนต์ไม่จดทะเบียนและโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อ เป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าซื้อที่จะต้องดำเนินการให้ผู้ขายจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าว ไม่อาจอ้างว่าเป็นเรื่องพ้นวิสัยได้ กรณีนี้ผู้ให้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาตั้งแต่แรก (ที่ไม่จดทะเบียนรถยนต์) การบอกเลิกสัญญาจึงเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบ แต่เมื่อมีการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่กัน จึงเป็นกรณีที่ทั้งสองฝ่ายสมัครใจใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อกัน ถือว่าสัญญาเลิกกันโดยปริยาย ทั้งสองฝ่ายจึงต้องกลับสู่ฐานะเดิม เมื่อผู้เช่าซื้อคืนรถ ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนค่าเช่าซื้อและเงินดาวน์ที่จ่ายไปแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย คงเรียกได้เฉพาะค่าใช้รถยนต์ช่วงที่ผู้เช่าซื้อครอบครองและใช้ประโยชน์ เทียบเท่ากับเงินดาวน์และค่างวดและค่าจดทะเบียนที่ได้จ่ายไปแล้ว เห็นสมควรให้เป็นพับกันไปทั้งสองฝ่าย (เจ๊ากัน) (คำพิพากษาฎีกาที่ 3745/2551)

– การซื้อขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ ในการเช่าซื้อรถหากผู้เช่าซื้อเห็นว่าจะไม่สามารถส่งค่างวดต่อไปหรือจะเปลี่ยนใจผ่อนรถคันใหม่ ถ้าจะบอกเลิกสัญญากับผู้ให้เช่าซื้อ ก็จะต้องเสียเงินดาวน์และค่างวดที่ผ่อนไปแล้วไปเสียเปล่า จึงมีการซื้อขายสิทธิที่เรียกกันว่าขายดาวน์ ความเป็นจริง ก็คือ การขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยแล้ว ว่า สิทธิเช่าซื้อเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่สามารถซื้อขายกันได้ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 2466 /2539 (ประชุมใหญ่) เป็นกรณีซื้อขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ดิน คำพิพากษาฎีกาที่ 4503/2540 กรณีขายสิทธิเช่าซื้อรถยนต์

อย่างไรก็ตาม การขายดาวน์รถยนต์ที่จะไม่ให้เกิดปัญหาต่อผู้ให้เช่าซื้อที่ขายดาวน์ในภายหลัง เช่น อาจถูกผู้ซื้อดาวน์ที่ทุจริตเชิดรถยนต์หนี และก็ไม่ส่งค่างวดต่อ ซึ่งจะทำให้ผู้ขายดาวน์ยังคงมีภาระต้องผ่อนค่างวดจนครบโดยไม่ได้ใช้รถ การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา คือ ดำเนินการเปลี่ยนคู่สัญญากับผู้ให้เช่าซื้อ โดยเปลี่ยนชื่อผู้เช่าซื้อจากผู้ขายดาวน์ไปเป็นผู้รับซื้อดาวน์เสียให้ถูกต้อง เมื่อเปลี่ยนคู่สัญญาแล้วหากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับรถที่เช่าซื้อเกิดขึ้น เช่น ผู้ซื้อดาวน์ที่เป็นผู้เช่าซื้อรายใหม่ขาดการส่งค่างวด ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้ที่รับซื้อดาวน์ที่เป็นผู้เช่าซื้อรายใหม่ ผู้เช่าซื้อเดิมไม่ต้องรับผิดด้วย มีกรณีคล้ายทำนองนี้เป็นคดีเกิดขึ้น เช่น ในคดีเกี่ยวกับการเช่าซื้อรถยนต์คดีหนึ่ง นายวรเดช ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ กับบริษัท หาดใหญ่ ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อมาโดยไม่ผิดนัด จนถึงงวดที่ 5 นายวรเดชได้ติดต่อกับพนักงานของบริษัท หาดใหญ่ ขอเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่ โดยให้นางยุพินเป็นผู้เช่าซื้อ พนักงานของบริษัทได้ให้ทั้งสองคนลงชื่อในแบบพิมพ์การโอนสิทธิของบริษัท และมีการลงชื่อรับมอบรถยนต์ด้วย แต่ต่อมา นางยุพินผู้รับโอนสิทธิไม่ได้ส่งค่างวดเลย บริษัทหาดใหญ่จึงฟ้องนายวรเดชให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อนายวรเดชส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้บริษัทหาดใหญ่ (ในวันที่ไปดำเนินการโอนสิทธิ) ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่บริษัทหาดใหญ่แล้ว สัญญาเช่าซื้อระหว่างนายวรเดชกับบริษัทหาดใหญ่ เป็นอันเลิกกันนับแต่วันที่ส่งมอบรถยนต์ให้บริษัทหาดใหญ่ บริษัทหาดใหญ่ไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ 7024/ 2548)

เครดิต ตั๋วทนาย.com
การสอบใบอนุญาตว่าความ
Lawyers.in.th



ขอบคุณข้อมูลดีๆจากเพจ ปรึกษากฎหมายฟรี




0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

ป้ายกำกับ

คลังรูปภาพ ความรู้เกี่ยวกับเว็บไซต์ ความรู้เทคนิคเคล็ดลับ คำคมโดนๆจากหลายสำนัก เคล็ดลับสาระน่ารู้ โดเมนโฮสติ้ง ตำนานประวัติศาสตร์ แนะนำหนัง สนุก มัน ซึ้ง บทความดีๆที่น่าอ่าน บล็อกและเว็บไซต์ ประเพณีพื้นบ้านไทย ปริศนาโลก ภาพสวยอาร์ตหลากอารมณ์ มุมมองเกี่ยวกับความรัก มุมมองความรัก รวมภาพตุ๊กตาน่ารัก รวมภาพสัตว์น่ารัก รวมภาพสาวเซ็กซี่น่ารัก รวมภาพอาร์ตๆ เรื่องของเห็ดๆ เรื่องจริงที่ไม่น่าเชื่อ เรื่องราวลี้ลับพิศวง วัดพระธาตุนครพนม เว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ สถานที่ท่องเที่ยว จ.ชัยภูมิ สถานที่ท่องเที่ยว จ.นครพนม สถานที่ท่องเที่ยวจากทั่วโลก สถานที่ท่องเที่ยวไทย สร้างรายได้ออนไลน์ สังคมและกฎหมาย สูตรการทำอาหาร อัพเดทสังคมออนไลน์ Anime ภาพการ์ตูนสวยๆ App มือถือ blogger facebook Gif ภาพเคลื่อนไหว Google Opencart Wallpapers